ความหมายของการแนะแนว
การแนะแนวการศึกษานอกโรงเรียน หมายถึง กระบวนการที่จัดขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้รู้ถึงความสามารถ ความสนใจของตนเองเข้าใจสิ่งแวดล้อม สามารถเลือกและตัดสินใจได้ว่าตนเองควรจะศึกษาด้านใด ประกอบอาชีพอะไรหรือควรดำเนินชีวิตอย่างไรได้อย่างเหมาะสม สามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขความสำเร็จในชีวิต
ปรัชญาการแนะแนว
1.มนุษย์มีความแตกต่างกันทั้งบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยเจตคติความรู้สึกภาวะของจิตและอารมณ์ ความสนใจความสามารถความถนัดและสติปัญญา
2.พฤติกรรมของมนุษย์ย่อมมีสาเหตุ มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งอาจเปลี่ยนไปในทางที่ดีหรือไม่ดีก็ได้
3.มนุษย์ทุกคนย่อมมีปัญหามีความขัดข้องใจ และต้องการได้รับความช่วยเหลือ
4.มนุษย์มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ มีดีอยู่ในตัวเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสูงยิ่งจะมีความสุขก็ต่อเมื่อมีโอกาสได้ใช้ความรู้ ความสามารถ สติปัญญาอย่างเต็มที่หากได้รับการแนะแนวที่ถูกต้องจะสามารถช่วยตนเองให้พัฒนา เจริญงอกงามถึงขีดสุดตลอดจนสามารถดำเนินชีวิตเป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม
5.การแนะแนวยึดหลักเมตตาธรรม อาศัยความรู้ ความหวังดีต่อกันยึดมั่นในความเป็นประชาธิปไตย เคารพกันตามเหตุผลและร่วมมือประสานงานกัน
6.การให้คำปรึกษาเป็นหัวใจสำคัญของการแนะแนว ยึดหลักการว่าช่วยให้เขารู้จักการปรับตัวและสามารถนำตนเอง ช่วยเหลือตนเองได้
หลักการแนะแนว
1.การแนะแนวต้องจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา โดยสอดแรกอยู่ในกระบวนการเรียนการสอนทุกกิจกรรม
2.การแนะแนวเป็นหน้าที่ของครูทุกคนที่จะต้องดำเนินการร่วมกันและมีการประสาน
กับผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา โดยเฉพาะชุมชน
3.การแนะแนวจะต้องจัดสำหรับผู้เรียนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะผู้เรียนที่มีปัญหาเท่านั้นและต้องจัดให้ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา อาชีพและบุคลิกภาพ
4.การแนะแนวต้องจัดอย่างต่อเนื่อง ควรมีแผนปฏิบัติการแนะแนวโดยให้สอดคล้องสัมพันธ์กับปัญหา ความต้องการในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
5.การแนะแนวควรมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียนทุกด้าน ตรงตามความเป็นจริงและเป็นปัจจุบันซึ่งจะทำให้สามารถช่วยเหลือผู้เรียน
ได้ตรงตามความต้องการทุกคน
6.การแนะแนวควรช่วยผู้เรียนให้สามารถนำตนเองและพึ่งตนเองได้
เป้าหมายของการแนะแนว
1.ป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคคล (Preventive Approach)
2. ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น (Curative Approach)
3. ส่งเสริมและพัฒนาบุคคล (Developmental Approach)